คำพิพากษาฎีกาที่ 6110/2554

นางมุกดา อิ่มสุภาพ โจทก์

บริษัทไทย แอร์พอร์ตส์ กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด จำเลย

เรื่อง 1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับนายจ้าง
2. เมื่อถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างจะฟ้องเรียกเงินสมทบและเงินสะสมจากใคร

1. โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 24,300 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 26 ของเดือน ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 243,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 45,360 บาท ค่าเสียหาย 364,500 บาท และเงินสมทบ 122,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

2. จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 23,400 บาท และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินสะสม เงินสมทบ รวมทั้งผลประโยชน์จากจำเลยเพราะเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2539 มีการก่อตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว โจทก์จึงต้องฟ้องเรียกเงินข้างต้นจากกองทุนดังกล่าว โจทก์ร่วมกับพนักงานอื่นของจำเลยเอาคอมพิวเตอร์ 13 เครื่อง และแผ่นกั้นห้อง (ปาติชั่น) 10 แผ่นให้แก่บุคคลภายนอก การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลย จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ค่าชดเชยหรือทรัพย์สินใด ๆ จากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

3. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 234,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 43,600 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 350,000 บาท และเงินสมทบ 122,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

4. ศาลฎีกาปรึกษาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มาตรา 7 บัญญัติว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนแล้วให้เป็นนิติบุคคล มาตรา 13 บัญญัติว่า การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะต้องดำเนินการโดยบุคคลซึ่งมิใช่นายจ้าง มาตรา 23 บัญญัติว่า เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่น ซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้จ่ายเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจดทะเบียนแล้วได้ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสมทบ 122,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

5. พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)

www.paiboonniti.com