คำพิพากษาฎีกาที่ 7501/2554

บริษัทเฟิสท์ ทรานสปอร์ต จำกัด โจทก์

คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โดย นายอัมพร นีละโยธิน ที่ 1 กับพวกรวม 9 คน จำเลย

เรื่อง โจทก์ไม่ยอมหมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถรับส่งนักท่องเที่ยว เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่

1. โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ นายสมคิด และนายพิริยกร
ลูกจ้างของโจทก์ได้ยื่นคำร้องกล่าวหาต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าถูกโจทก์กลั่นแกล้งไม่มอบหมายงานให้ทำ เพราะเหตุเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้ทำคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและทำคำฟ้องต่อศาลแรงงงานเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ผลการพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า โจทก์ไม่มอบหมายงานให้นายสมคิด และนายพิริยกร เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จึงมีคำสั่งให้โจทก์มอบหมายงานขับรถให้นายสมคิด ทำตามปกติ และจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 760 บาทต่อเดือน

2. จำเลยทั้งเก้าให้การว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 146-147/2547 เป็นคำสั่งถูกต้องชอบด้วย
เหตุผล ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นายสมคิดและนายพิริยกร ได้ไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเกี่ยวกับเงินประกันและค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี พนักงานตรวจแรงงานจึงมีคำสั่งที่ 11/2547 สั่งให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่นายสมคิดและนายพิริยกร แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามและยื่นฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งต่อศาลแรงงานกลางซึ่งได้พิพากษายกฟ้อง โจทก์ได้มอบหมายงานให้แก่นายสมคิดและนายพิริยกร ทำงานเวลาปกติ 8.00-17.00 นาฬิกา นั้นไม่ชอบด้วยเหตุผล คำสั่งของจำเลยทั้งเก้าที่ให้โจทก์จ่ายเงินค่าเสียหายจำนวน 760 บาทต่อเดือนแก่นายสมคิดและ
นายพิริยกรนั้นถูกต้องและชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฉะนั้นเมื่อโจทก์ไม่มอบหมายงานขับรถแก่นายสมคิด และนายพิริยกร ลูกจ้างทั้งสองของโจทก์ก็ย่อมไม่มีรายได้จำนวน 760 บาทต่อเดือน คำสั่งของจำเลยทั้งเก้าที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายจำนวน 760 บาทต่อเดือน แก่นายสมคิดและนายพิริยกร ตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 146-147/2547 ฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 จึงถูกต้องตามกฎหมาย

3. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนเกิดเหตุเป็นคดีนี้ นายสมคิด และนายพิริยกร
ได้สมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน แล้วมีการฟ้องเรียกเงินค่าทำงานล่วงเวลาย้อนหลัง 2 ปี จากโจทก์โจทก์จึงได้งดไม่มอบหมายงาน จากนั้นนายสมคิดและนายพิริยกรจึงได้ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งภายหลังคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยจำเลยทั้งเก้าในคดีนี้ได้มีคำสั่งให้โจทก์มอบหมายงานนำนักท่องเที่ยวให้นายสมคิดและนายพิริยกรทำพร้อมกับจ่ายค่าเสียหายให้บุคคลทั้งสองเดือนละ 760 บาท นับแต่วันไม่มอบงานจนถึงวันมอบงาน ข้อวินิจฉัยของจำเลยทั้งเก้าจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 146-147/2547 เพราะเป็นอำนาจในการบริหารจัดการภายในองค์กร

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ให้นายสมคิดกับนายพิริยกรประจำที่สถานประกอบการดังกล่าว จึงมิใช่การ
กระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 แห่งบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 146-147/2547 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com