คำพิพากษาฎีกาที่ 7947/2554

นายอัครพงศ์ สงวนศักดิ์ โจทก์

บริษัท ยูโทเปีย จิวเวลรี่ จำกัด จำเลย

เรื่อง โจทก์รับชิ้นงาน ซึ่งผู้บังคับบัญชาของจำเลยได้มอบหมายให้ และมิได้ดำเนินการใดๆ จึงมีเหตุสมควร เลิกจ้างหรือไม่

 

 

1. โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2548 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่ง
สุดท้ายทำหน้าที่ช่างพิมพ์ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 14,500 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2550 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชย เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหาย

2. จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วย
กฎหมายและเป็นธรรณกรณีร้ายแรง ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อที่ 33.4 และข้อที่ 41.4 โดยนายวิกเตอร์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบแผนกแม่พิมพ์ในขณะนั้นและเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้มอบหมายให้โจทก์แกะและตกแต่งแม่พิมพ์เนื้อเงินชิ้นงานเป็นจี้ โดยมีนางสาวนิภาพร ผู้จ่ายงานเป็นล่ามแปลภาษา ต่อมามีงานชิ้นหนึ่งที่โจทก์ทำไว้แต่จะต้องมีการแก้ไข จึงได้ทราบว่าหลังจากโจทก์รับงานชิ้นที่ผู้จัดการฝ่ายผลิตมอบหมายให้ไปแล้วยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย เป็นการปฏิเสธการทำงานตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีร้ายแรง

3. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
14,500 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 29,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจ่ายค่าชดเชย 43,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

4. จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

5. ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ขัดคำสั่งไม่ทำชิ้นงานจี้ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายวิกเตอร์
โจทก์มิได้กระทำความผิดหรือมีเหตุอื่นใดอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะที่โจทก์กำลังจะลงมือทำชิ้นงานจี้ตามที่ได้รับมอบหมาย มีงานของโจทก์ที่จะต้องแก้ไขกลับมาให้โจทก์ทำ นางสาวนิภาพรจึงนำชิ้นงานจี้ดังกล่าวไปให้ช่างคนอื่นทำ ที่ว่าโจทก์ปฏิเสธการทำงานโดยมิได้มีงานอื่นเข้ามาแทรกดังที่โจทก์เบิกความเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

6. พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/43)
www.paiboonniti.com