คำพิพากษาฎีกาที่ 8244/2555

นายบุญสม   เหลือถนอม โจทก์

บริษัท ลินฟ้อกซ์  ทรานสปอร์ต  (ประเทศไทย)  จำกัด จำเลย

เรื่อง     1.  ค่าเที่ยวคืออะไร
2.  เงื่อนไขการจ่ายค่าเที่ยว  ควรเป็นอย่างไร
3.  ละทิ้งหน้าที่ 2 วันทำงาน  เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม  และไม่ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

 

 

1.    โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2543 จำเลยรับโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง  ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานขับรถบรรทุกหัวลากตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้า  เพื่อส่งสินค้าของห้างเทสโก้โลตัสไปยังสาขาทั่วประเทศตามที่จำเลยมอบหมาย  ได้รับค่าจ้างเดือนสุดท้าย  6,975  บาท  และค่าเที่ยวซึ่งจะได้รับในแต่ละเที่ยวขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้ไกล  ได้รับค่าเที่ยวสุดท้ายคือค่าเที่ยวเดือนธันวาคม  2548  จำนวน 11,000  บาท  รวมเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงิน  17,975  บาท  ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2549  จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด  จำเลยจึงต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน  โดยจ่ายค่าจ้างย้อนหลัง  แต่หากไม่รับเข้าทำงานโจทก์ขอเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 107,850 บาทให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย  107,850 บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15  สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า  13,780  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี 

2.    จำเลยให้การ  การทำงานของพนักงานขับรถจะทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน  หยุด 1 วัน  โจทก์มีเงินเดือนประจำโดยได้รับเงินเดือนเดือนสุดท้าย  6,975  บาท  ส่วนค่าเที่ยวเป็นค่าตอบแทนพิเศษจะให้ต่อเมื่อพนักงานขับรถไปส่งสินค้าจริงเท่านั้น  และจำนวนค่าเที่ยวจะขึ้นอยู่กับระยะทางในการขนส่งสินค้าการคิดค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์จึงไม่รวมค่าเที่ยว  และค่าเที่ยวสุดท้ายเดือนธันวาคม 2548  ที่โจทก์ระบุมาสูงเกินจริง  วันที่ 6 มกราคม 2549  จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 2 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควรและการทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน  กระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต  ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม  ขอให้ยกฟ้อง

3.    ศาลแรงงานพิจารณาแล้ว  พิพากษายกฟ้อง

4.    ศาลฎีกา  ฟังข้อเท็จจริงว่า  โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งพนักงานขับรถขนส่งสินค้าหัวลากตู้เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2548  ถึงวันที่ 3 มกราคม 2549  โจทก์ไม่มาทำงานโดยไม่ยื่นใบลา  โจทก์ยอมรับว่าไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 2 และวันที่ 3 มกราคม 2549 โดยมิได้ยื่นใบลาตามระเบียบ    จึงเป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์  การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2549  จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุแห่งการเลิกจ้างไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

5.    จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุผลที่จะไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่  การที่โจทก์ละทิ้งงานในหน้าที่ 2 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่ได้ยื่นใบลาให้ถูกต้องตามระเบียบ  และไม่แจ้งให้จำเลยทราบจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย  และช่วงที่โจทก์ละทิ้งงานในหน้าที่ไปนั้นเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับเทศกาลปีใหม่  ซึ่งเป็นช่วงที่ห้างเทสโก้โลตัสลูกค้าของจำเลยขายสินค้า ได้ดี  โจทก์ย่อมทราบดีว่าการละทิ้งงานในหน้าที่ของโจทก์ช่วงดังกล่าวนั้นอาจทำให้จำเลยส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าไม่ทันตามสัญญาและก่อความเสียหายให้แก่จำเลย  การกระทำของโจทก์จึงเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต  จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583  จำเลย  จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

6.    การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่  เห็นว่า  จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยละทิ้งงานในหน้าที่ไปเป็นเวลา 2 วันทำงานติดต่อกัน  โดยไม่มีเหตุอันสมควร  การเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุผลอันสมควร  จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

7.    คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า  จำเลยเลิกจ้างโดยมีเหตุที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่  การละทิ้งหน้าที่เพียง 2 วันทำงานติดต่อกันจึงไม่ใช่กรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (5)  แต่เนื่องจากโจทก์อ้างว่าได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ  17,935  บาท  โดยค่าจ้างอัตราสุดท้ายดังกล่าวโจทก์รวมค่าเที่ยวสุดท้ายเดือนธันวาคม 2548  จำนวน  11,000  บาทด้วย  ส่วนจำเลยให้การว่าค่าเที่ยวเป็นค่าตอบแทนพิเศษจะจ่ายให้เมื่อพนักงานขับรถไปส่งสินค้าจริง  ค่าจ้างสุดท้ายของโจทก์ไม่รวมค่าเที่ยว  และค่าเที่ยวเดือนธันวาคม 2548  สูงเกินจริง มีปัญหาว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละเท่าไร ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาในข้อเท็จจริง  ศาลฎีกาไม่สามารถวินิจฉัยได้เองจึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

พิพากษาแก้เป็นว่า  จำเลยจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี  นับแต่วันที่ 6 มกราคม 2549  จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์  ย้อนสำนวนให้  ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า  โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละเท่าไร  แล้วพิพากษาประเด็นนี้ใหม่ตามรูปคดี  นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตย์มั่น
www.paiboonniti.com

Code : 56