คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3598/2561 ฎีกาแรงงาน

เรื่อง       

  1. ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดว่าสัญญาจ้างแรงงานต้องทำเป็นหนังสือ การที่นายจ้างกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ผู้จัดการสายงานทรัพยากรมนุษย์เป็นตัวแทนในการลงนามในสัญญาจ้าง สัญญาจ้างจึงผูกพันลูกจ้าง
  2. ข้อสัญญาห้ามลูกจ้างเข้าทำงานกับบริษัทที่มีลักษณะเป็นการค้าแข่งกับบริษัทเมื่อพ้นจากการเป็นพนักงานภายใน 2 ปี มิได้เป็นการห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้อย่างเด็ดขาด จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ลักษณะสิทธิประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ จึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและไม่ขัดต่อกฎหมาย

1.โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 1 สิงหาคม 2554 โจทก์จ้างจำเลยเข้าทำงานตำแหน่งผู้จัดการโรงงานค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 118,700 บาท โดยจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงงานตามกรรมวิธี การะบวนการ ขั้นตอนการผลิต ในสัญญาว่าจ้างมีข้อสัญญาห้ามจำเลยเข้าทำงานกับบริษัทที่มีลักษณะเป็นการค้าแข่งกับบริษัทในกลุ่มของโจทก์เมื่อพ้นจากการเป็นพนักงานภายใน 2 ปี หากผิดสัญญาต้องชดใช้ค่าเสียหาย ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2557 จำเลยลาออก หลักจากนั้นเพียง 1 เดือน จำเลยไปทำงานในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาดและการค้าของบริษัท จ. จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการผลิตและจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรรวมถึงยางพารา การกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญา ขอบังคับให้จำเลยลาออกจากการทำงานกับบริษัท จ. กับให้ชดใช้ค่าเสียหายจนกว่าจำเลยจะลาออกโดยใช้ระยะเวลาที่ยังไม่ลาออกคูณด้วยเงินเดือนสุดท้าย 118,700 บาท หรือให้ใช้เงิน 2,848,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีผลผูกเนื่องจากโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญบริษัท และเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

2.ศาลแรงงานภาค 9 พิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อตกลงห้ามจำเลยไปทำงานกับบริษัทอื่นที่มีลักษณะงานเดียวกันกับโจทก์เป็นวิธีการเพื่อปกป้องข้อมูลสำคัญทางการค้าของผู้ว่าจ้าง การมีข้อห้ามในลักษณะดังกล่าวกับตำแหน่งของลูกจ้างซึ่งอยู่ในตำแหน่งระดับบริหารที่มีโอกาสรับรู้ข้อมูลสำคัญของบริษัทที่ตนทำงานโดยตำแหน่งหน้าที่และมีระยะเวลาห้ามไว้ 2 ปี ข้อตกลงดังกล่าวใช้บังคับได้ จำเลยปฏิบัติผิดข้อตกลงจึงต้องชดใช้ค่าเสียหาย พิพากษาให้ชระเงิน 500,000 บาท คำขออื่นให้ยก                   

                            3. จำเลยอุทธรณ์

4. ประเด็นสัญญาจ้างที่ไม่ลงนามโดยกรรมการโจทก์และประทับตราสำคัญมีผลผูกพันจำเลยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดว่าสัญญาจ้างแรงงานต้องทำเป็นหนังสือ การที่โจทก์กำหนดอำนาจหน้าที่ให้นางสาว น. ตำแหน่งผู้จัดการสายงานทรัพยากรมนุษย์เป็นตัวแทนโจทก์ในการลงนามในสัญญาจ้างลูกจ้างรวมทั้งจำเลยด้วย นางสาว น. จึงมีอำนาจลงนามในสัญญาจ้างได้ ซึ่งนับแต่ปี 2554 ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยโต้แย้ง จำเลยยังคงทำงานกับโจทก์ตลอดมาเป็นเวลา 3 ปีเศษ ดังนี้ สัญญาจ้างจึงผูกพันจำเลยส่วนการที่ศาลแรงงานภาค 9 รับฟังแบบกำหนดหน้าที่งานที่กำหนดให้นางสาว น. ตัวแทนโจทก์ในการลงนามในสัญญาจ้าง ก็เป็นกรณีที่ศาลแรงงานภาค 9 รับฟังได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลแรงงานในการเรียกพยานหลักฐานมาสืบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความชัดเจน แม้โจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้และจำเลยได้โต้แย้งแล้วก็ตาม อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

5. ประเด็นว่าสัญญาเป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพในกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์เท่านั้น มิได้เป็นการห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยอย่างเด็ดขาด และจำเลยก็สามารถที่จะประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากข้อตกลงนี้ได้ลักษณะของข้อตกลงที่ก่อให้เกิดหนี้ในการงดเว้นการกระทำตามที่กำหนดโดยความสมัครใจของคู่กรณีเช่นนี้ไม่ใช่การตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมดเสียทีเดียว เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่มีลักษณะเป็นการแข่งขับกับโจทก์เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ประกอบกับจำเลยทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการโรงงานซึ่งมีตำแหน่งบริหาร ย่อมมีโอกาสรู้ข้อมูลสำคัญในการประกอบธุรกิจของโจทก์ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและไม่ขัดต่อกฎหมาย ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์เกี่ยวกับการกำหนดค่าเสียหายนั้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายืน

Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї Ї

รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตย์มั่น
www.paiboonniti.com ฎีกาแรงงาน

Code 96