คำพิพากษาฎีกาที่ 13807-13808/2555

นายลำพูล กันเขียว
นายบรรจง จันทร์เสนา                                                 โจทก์ 

บริษัท คอนทิเนนทอล ปิโตรเคมีคอล (ประเทศไทย) จำกัด      จำเลย

เรื่อง ขาดทุนสะสมและลดคนเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม

 

 

1. โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีความผิด ไม่จ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และนอกจากนี้ยังค้างค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ทั้งสองทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 24,530 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 7,359 บาท ค่าชดเชย 133,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ทุกเจ็ดวันนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 2,568,960 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 19,415 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 5,830 บาท ค่าชดเชย 84,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ทุกเจ็ดวันนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายเป็นเงิน 1,272,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2

 2. จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า การที่จำเลยพิจารณาเลือกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเนื่องจาก จำเลยประสบปัญหาภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องปรับลดโครงสร้างและลดจำนวนพนักงานลง โดยจำเลยได้พิจารณาถึงสมรรถภาพในการทำงานตามตำแหน่งต่างๆ ประกอบกับเมื่อเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ ที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองกับกรณีที่จำเลยว่าจ้างบริษัทบุคคลภายนอกเข้ามารับดำเนินการแทนในระยะยาว การว่าจ้างบุคคลภายนอกจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายและเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานมากกว่าการที่ยังคงจ้างโจทก์ทั้งสองไว้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองมิได้เป็นการกลั่นแกล้ง หรือเป็นการจงใจล้มล้างสหภาพแรงงาน แต่เป็นการพิจารณาเลิกจ้างตามความจำเป็นและมีเหตุอันสมควรจึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง

 3. ระหว่างพิจารณาจำเลยได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งสอง ซึ่งโจทก์ทั้งสองแถลงไม่ติดใจดำเนินคดีในส่วนนี้ จึงเหลือประเด็นให้ศาลวินิจฉัยแต่เพียงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่
 4. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 160,560 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 106,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

 5. ศาลฎีกาวินิจฉัย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ทั้งสองทำงานเป็นลูกจ้างรายเดือนตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ
13,388 บาท จำเลยที่ 2 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,636 บาท ในปี 2537 จำเลยมีลูกจ้าง 150 คน ต่อมาในปี 2541 จำเลยเลิกจ้างลูกจ้าง 25 คน และมีนโยบายไม่รับพนักงานใหม่ทดแทนพนักงานที่ลาออก กระทั่งปี 2548 จำเลยมีพนักงาน 111 คน และจำเลยได้เลิกจ้างลูกจ้างอีก 13 คน ต่อมาในวันที่ 7 เมษายน 2549 จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างอีก 9 คน ซึ่งรวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วย และจำเลยได้รับพนักงานจากบริษัทผู้รับเหมางานภายนอกส่งพนักงานเข้ามาทำงานให้แก่บริษัทจำเลยรวม 24 คน โดยมีพนักงานเข้าทำงานเป็นพนักงานขับรถบรรทุกแทนโจทก์ทั้งสอง 2 คน เหตุที่จำเลยต้องทยอยเลิกจ้างลูกจ้างมาจนกระทั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะจำเลยประสบภาวะขาดทุนสะสมมาโดยตลอดโดยก่อนเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองนั้นจำเลยได้ทำการเปรียบเทียบแล้วว่า หากจำเลยให้บริษัทผู้รับเหมาภายนอกส่งพนักงานขับรถบรรทุกเข้ามาทำงานแทนโจทก์ทั้งสองจะทำให้จำเลยลดค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมาก เห็นว่า แม้จะปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.ล.1 ว่าจำเลยมีทุนจดทะเบียน 540,533,000 บาท แต่ตามสำเนางบกำไรขาดทุนและขาดทุนสะสมเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.6 ก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังมีการขาดทุนสะสมมาโดยตลอด กระทั่งปี 2548 ปรากฏการขาดทุนสะสมถึง 719,120,984 บาท และตามเอกสารหมาย ล.12 ก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองมีความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาก กระทั่งจำเลยต้องจ้างพนักงานขับรถบรรทุกเพิ่มอีก 1 คน เป็นเหตุให้จำเลยต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นจึงได้จัดทำตารางเปรียบเทียบผลต่างเฉลี่ยต่อเดือนและต่อปีตามเอกสารหมาย ล.13 ซึ่งแสดงถึงเงินเดือน รายได้ สวัสดิการของโจทก์ทั้งสองและพนักงานขับรถบรรทุกอีก   1 คน นับจากขณะทำเอกสารไปจนถึงเกษียณอายุการทำงานเมื่ออายุครบ 60 ปี เปรียบเทียบกับการจ้างพนักงานขับรถบรรทุกจากบริษัทรับเหมาภายนอก ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่ามีผลเฉลี่ยต่อเดือนและต่อปีเป็นส่วนต่างจำนวนมาก ซึ่งแม้จะคำนวณจากเพียงส่วนของโจทก์ทั้งสองเปรียบเทียบกับของพนักงานขับรถบรรทุกจากบริษัทผู้รับเหมาภายนอกก็ยังเห็นได้ว่า การที่จำเลยจ้างพนักงานขับรถบรรทุกจากบริษัทรับเหมาภายนอกทำให้จำเลยสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ถึงเดือนละ 21,868 บาท หากคำนวณถึงวันเกษียณอายุการทำงานจะลดค่าใช้จ่ายได้รวม 2,225,378 บาท และหากพิจารณาที่โจทก์ทั้งสองจะต้องมีพนักงานขับรถบรรทุกช่วยเพิ่มอีก 1 คน ซึ่งจะทำให้จำเลยต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกเมื่อคำนวณถึงวันเกษียณอายุการทำงานของพนักงานดังกล่าวเป็นเงิน 5,753,220 บาท การที่จำเลยจ้างพนักงานขับรถบรรทุกจากบริษัทผู้รับเหมาภายนอกเพียง 2 คน จะช่วยให้จำเลยลดค่าใช้จ่ายระยะยาวได้ถึง 7,978,598 บาท อันเป็น

ค่าใช้จ่ายที่จำเลยจะต้องคำนึงถึงเพื่อลดส่วนของการขาดทุนสะสมลง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองกับลูกจ้างอื่นอีก 9 คน เพื่อความอยู่รอดของจำเลยจึงมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอ และเมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าที่จำเลยกระทำไปเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง



รวบรวมโดยนายไพบูลย์  ธรรมสถิตย์มั่น
www.paiboonniti.com