คำพิพากษาฎีกาที่ 5863-5873/2553

นายชัยยุทธ ลิมลาวัลย์ ที่ 1 กับพวกรวม 11 คน โจทก์

บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมิกัลไทย จำกัด (มหาชน) จำเลย

เรื่อง 1. กรณีเลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากปฏิบัติงานล่าช้า ไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงาน ละเลย ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นความผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่

2. ไม่มอบรหัสเข้าระบบคอมพิวเตอร์ เป็นความผิดร้ายแรงไหม

3. นายจ้างควรมีวิธีการอย่างไร ในการควบคุมระบบคอมพิวเตอร์

1. โจทก์ทั้งสิบเอ็ดสำนวนฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดโดยไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งสิบเอ็ด (1)กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิมและ (2)จ่ายค่าจ้างในระหว่างเลิกจ้างให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดพร้อม (3)ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีและให้จำเลย (4)จ่ายค่าชดเชย สินจ้าง (5)แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (6)ค่าจ้างค้าง (7)ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และ (8)ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม (9)พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ด ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน

2. จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของจำเลย โจทก์ทั้งสิบเอ็ดสังกัดอยู่ในสายงานบริหารจัดการและพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ด เนื่องจากเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร กล่าวคือ โจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้ปฏิบัติงานให้ล่าช้า ไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงาน ละเลย ปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายซึ่งจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือไปยังโจทก์ทั้งสิบเอ็ดแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยุบสายงานพัฒนา ซึ่งโจทก์ทั้งสิบเอ็ดสังกัดอยู่ไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสายงานอื่น แต่โจทก์กลับเพิกเฉยและปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบนโยบายอันเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา อันเป็นความผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง พบว่าเป็นการกระทำโดยมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เป็นไปตามประกาศหรือคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยและผู้บังคับบัญชาเจตนาไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานของจำเลย ถือว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนและทำให้จำเลยได้รับความเสียหายคณะกรรมการจึงมีมติให้พักงานและให้โจทก์ส่งมอบงานและทรัพย์สินที่อยู่ในความรับผิดชอบคืนแก่จำเลยแต่โจทก์กลับเพิกเฉยและปฏิเสธที่จะส่งมอบทรัพย์สินที่อยู่ในความรับผิดชอบให้แก่จำเลย ก็ไม่ได้กลับเข้ารายงานตัวหรือปฏิบัติงานโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือมีเหตุอันสมควร ละทิ้งหน้าที่ การกระทำของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงกล่าวคือ การที่ไม่ส่งมอบงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ ไม่ส่งมอบรหัสประจำตัวในการเข้าสู่ระบบงานในคอมพิวเตอร์ เป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจเข้าไปใช้งานในระบบคอมพิวเตอร์ จำเลยจำเป็นต้องว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบความเสียหายของระบบคอมพิวเตอร์ ตลอดจนดำเนินการแก้ไขระบบต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้ออุปกรณ์ใหม่ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบคู่สายใหม่ทั้งที่สำนักงานของจำเลยที่กรุงเทพมหานครและที่จังหวัดระยอง ติดตั้งระบบความปลอดภัยระบบ NETWORK ตลอดจนต้องวางระบบข้อมูลต่าง ๆ ทางธุรกิจของจำเลยใหม่ทั้งหมดเป็นเงินค่าเสียหายส่วนรวม 64,727,750 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 65,027,750 บาท ขอให้ยกฟ้อง

3. โจทก์ทั้งสิบเอ็ดให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ก่อนที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ จำเลยไม่ได้มีหนังสือเชิญโจทก์ทั้งสิบเอ็ดไปให้ข้อเท็จจริง จำเลยได้สั่งพักงานนำกำลังไปปิดสถานที่ทำงานของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดพร้อมปิดประตูและคล้องกุญแจประตูไม่ให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดเข้าไปในที่ทำงาน ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบคู่สายใหม่ตลอดจนวางระบบข้อมูลต่างๆ ก็เป็นเรื่องของจำเลย โจทก์ทั้งสิบเอ็ดหาต้องรับผิดชอบไม่ และในระหว่างที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานให้จำเลยอยู่นั้น จำเลยได้ใช้บริการระบบวงจรสื่อสารจากบริษัท แอดวานซ์ ฯ บริษัท ยูไนเต็ด ฯ แ ละบริการระบบอินเตอร์เน็ตจากบริษัท เอเน็ต ฯ บริษัท อินเตอร์เน็ต ฯ ซึ่งจำเลยสามารถร้องขอความช่วยเหลือในการเข้าถึงระบบได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ตามสิทธิของจำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ โจทก์ทั้งสิบเอ็ดไม่เคยปิดบังในเรื่องนี้ เป็นแต่จำเลยไม่สนใจสอบถามเองโจทก์ทั้งสิบเอ็ดจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

4. ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้าง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากค่าชดเชย ค่าจ้างค้าง และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินให้แก่โจทก์แต่ละคนเสร็จสิ้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

5. จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา พฤติกรรมของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดถือได้ว่าเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ดังนั้นจำเลยผู้เป็นนายจ้างย่อมเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ด การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสิบเอ็ดจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรง โจทก์ไม่ปฏิบัติตามหรือแจ้งเหตุขัดข้องต่อผู้บังคับบัญชาเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ล้วนแต่โต้แย้งดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางโดยมีวัตถุประสงค์ต้องการให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่และนำไปสู่ข้อกฎหมายว่า โจทก์ทั้งสิบเอ็ดจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรง จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

6. พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบเอ็ด พิพากษายืน

รวบรวมโดยนายไพบูลย์ ธรรมสถิตย์มั่น (บ.1/15)
www.paiboonniti.com